f
 
ข่าวสารทางหลวง
title
ประชุมหารือแนวทางร่วมกันในการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ กทม. ได้เตรียมแผนการแก้ไขปัญหาในระยะเริ่มต้นจะบูรณาการร่วมกัน โดยกรมทางหลวงจะให้การสนับสนุนหน่วยเครื่องชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) มาใช้ในการสุ่มตรวจสอบและจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน

วันนี้ (10 พ.ย. 66) นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหารกรมทางหลวงและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือแนวทางร่วมกันในการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ กทม. ได้เตรียมแผนการแก้ไขปัญหาในระยะเริ่มต้นจะบูรณาการร่วมกัน โดยกรมทางหลวงจะให้การสนับสนุนหน่วยเครื่องชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) มาใช้ในการสุ่มตรวจสอบและจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งแนะนำวิธีการใช้งานเครื่องชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ให้กับเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ในระยะเวลา 1 เดือน โดยเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร กรมทางหลวง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะบูรณาการเชิงป้องกันร่วมกัน ณ ห้องประชุมมนัส คอวนิช กรมทางหลวง ถ.ศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร
title
กรมทางหลวง สรุปอุบัติเหตุบนทางหลวงเดือนตุลาคม 2566 พบอุบัติเหตุลดลง 33% สาเหตุหลักขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด

กรมทางหลวง สรุปอุบัติเหตุบนทางหลวงเดือนตุลาคม 2566 พบอุบัติเหตุลดลง 33% สาเหตุหลักขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด กรมทางหลวง โดยสำนักอำนวยความปลอดภัย ได้สรุปรายงานข้อมูลอุบัติเหตุบนทางหลวงทั่วประเทศประจำเดือนตุลาคม 2566 จากการรายงานอุบัติเหตุทางระบบ HAIMS พบว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นบนทางหลวงในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง จำนวน 992 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 126 คน ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 700 คน จำนวนรถที่เกิดอุบัติเหตุ 1,570 คัน เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของกรมทางหลวงเสียหายประมาณ 11 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบสถิติอุบัติเหตุประจำเดือนตุลาคม 2565 จำนวนอุบัติเหตุลดลงจากปีที่ผ่านมา 33% ผู้เสียชีวิตลดลง 22% บาดเจ็บลดลง 32% จำนวนรถที่เกิดอุบัติเหตุลดลง 32% ซึ่งสาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุมาจากผู้ขับขี่ขับรถด้วยความเร็วสูงกว่ากฎหมายกำหนด 74% (735 ครั้ง) รองลงมาได้แก่ หลับใน 7% (72 ครั้ง) และการตัดหน้าระยะกระชั้นชิด 7% (67 ครั้ง) สำหรับอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดบริเวณทางตรง 67% (668 ครั้ง) ทางโค้ง 10% (101 ครั้ง) และจุดปิดเกาะกลางถนน 7% (78 ครั้ง) ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ ได้แก่ รถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ37% (587 คัน) รถยนต์นั่ง 30% (474 คัน) รถจักรยานยนต์ 10% (157 คัน) และรถบรรทุกมากกว่า 10 ล้อ (รถพ่วง) 8% (127 คัน) ซึ่งหากจำแนกตามภาคของการเกิดอุบัติเหตุพบว่าเส้นทางในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลเกิดอุบัติเหตุสูงสุด 24% ภาคตะวันออก 17% และภาคเหนือ 15% นอกจากนี้ ทางหลวงที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ทางหลวงหมายเลข 9 บางปะอิน – แขวงรามอินทรา จำนวน 57 ครั้ง ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้มีมาตรการแก้ไขที่ได้ดำเนินการร่วมกับตำรวจทางหลวงในการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการตรวจจับความเร็วยานพาหนะทุกประเภทที่วิ่งบนทางหลวงพร้อมทั้งให้แขวงทางหลวงดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยถนน ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญในการลดและป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้ง ในช่วงฤดูฝนขอความร่วมมือผู้ใช้ทางโปรดขับขี่ด้วยความระมัดระวัง พักผ่อนให้เพียงพอและตรวจเช็คสภาพรถก่อนการเดินทางทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของท่านและผู้ร่วมทางรวมถึงป้องกันและลดอุบัติเหตุให้ได้ประสิทธิผลอีกด้วย หากประชาชนผู้ใช้ทางต้องการแจ้งอุบัติเหตุหรือสอบถามข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง) สายด่วนมอเตอร์เวย์ 1586 กด 7 และตำรวจทางหลวง 1193 ตลอด 24 ชั่วโมง #111ปีกระทรวงคมนาคมสร้างสุขทุกการเดินทาง